โครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” และโครงการ “คนไทยไร้ e-waste”

มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จับมือ AIS สร้างทักษะพลเมืองดิจิทัล ผ่านหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” พร้อมจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบ Zero2Landfill

💚

ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับทีมงานจาก AIS เดินหน้าขยายผลโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” และโครงการ “คนไทยไร้ e-waste” สร้างทักษะความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และเสริมภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ ให้บุคลากร นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ด้วยหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เพื่อยกระดับทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัล พร้อมการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ด้วยการใช้แอป E-Waste+ ผ่าน Agent ในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยายจุดรับทิ้งขยะ E-Waste ในมหาวิทยาลัย เพื่อนำขยะเข้าสู่กระบวนการจัดการรีไซเคิล Zero e-waste to Landfill ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายอาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค -ภาคเหนือ AIS กล่าวว่า “วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง ในจังหวัดพิษณุโลก ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องที่เป็นประเด็นหลักในสังคมถึง 2 เรื่อง ทั้งการเสริมทักษะดิจิทัล สร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้แก่บุคลากร และนิสิต นักศึกษา รวมถึงการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ผ่านมา AIS ได้เดินหน้าได้ส่งต่อหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาภาคเอกชน หรือแม้แต่การส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง สกมช. ทำให้ทุกวันนี้มีผู้เข้าถึงหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แล้วกว่า 300,000 คนทั่วประเทศ

นอกจากนี้ AIS ยังมีภารกิจสำคัญในการที่จะทำให้คนไทยไร้ e-waste จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หรือ HUB of e-waste ที่มีองค์กรภาครัฐและเอกชนกว่า 190 องค์กร มาร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการสร้างองค์ความรู้ ด้านเครือข่าย ที่มาช่วยแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ ด้านจุดรับทิ้ง ด้านการขนส่ง และด้านการรีไซเคิลแบบ Zero e-waste to landfill ตามมาตรฐานสากล โดยได้นำเทคโนโลยี Blockchain กับแอปพลิเคชัน E-Waste+ มาใช้ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสามารถตรวจสอบสถานะการทิ้งขยะ E-Waste ได้ทั้งกระบวนการ รวมถึงยังคำนวณขยะที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores ที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการร่วมทิ้ง E-Waste

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยสร้างการตระหนักรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่บุคลากร นิสิต นักศึกษา ในมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการเดินหน้าของประเทศ สู่การเป็น Sustainable Nation อย่างยั่งยืน”